ธนนไชย
ชื่ออื่นๆ : ศรีธนนไชย (นครราชสีมา) พังพวยนก พังพวยป่า ลันไชย (ราชบุรี ภาคใต้) รวงไซ รางไซ รางไทย (อุบลราชธานี) ลังไซ (ปราจีนบุรี)
ต้นกำเนิด : –
ชื่อสามัญ : –
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Buchanania siamensis Miq.
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE
ลักษณะของธนนไชย
ต้น เป็นไม้ยืนต้นลำต้นเล็กถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 5-15 เมตร ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนมีขนขึ้นประปราย เมื่อแก่ขนจะหลุดออก ผิวเปลือกขรุขระแตกเป็นสะเก็ดสีเทาหรือสีเทาปนดำ เป็นไม้หายากชนิดหนึ่ง
ใบ เนื้อใบเปราะหนา ปลายใบมนหรือกลมหรือเว้าหยักเข้า โคนใบเรียวหรือสอบแคบๆ ผิวหลังใบเรียบเกลี้ยงอาจมีขนเล็กน้อย ใต้ท้องใบจะมีขนและเส้นแขนงของใบเห็นได้ชัดมาก มีประมาณ 9-13 คู่ ก้านใบสั้นประมาณ 2-3 มม.
ดอก มีสีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 5-10 ซม. มีกลีบดอกยาวประมาณ 2-3 มม. จำนวน 5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม ปลายแหลม มีขนปกคลุม จำนวน 5 กลีบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรเพศผู้อยู่บริเวณกลางดอก 10 อัน
ผล เป็นรูปทรงกลม แบน ปลายผลป้าน เปลือกผลมีขนปกคลุมเล็กน้อย ออกเป็นผลเดี่ยวๆ เมื่อผลแก่จะกลายเป็นสีม่วงหรือดำ ผลที่โตเต็มที่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาวประมาณ 1 ซม.

การขยายพันธุ์ของธนนไชย
การใช้เมล็ด, การปักชำกิ่ง
ธาตุอาหารหลักที่ธนนไชยต้องการ
เป็นพืชที่ชอบความชื้นในปริมาณสูง ต้องการได้รับแสงแดดแบบเต็มวัน
ประโยชน์ของธนนไชย
- ยอดอ่อน ใบ รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ลาบ
- เปลือกให้สีย้อม ต้มสกัดน้ำย้อมจากเปลือกสดอัตรา 4-6 กิโลกรัม ต่อการย้อมไหม 1 กิโลกรัม นำเส้นไหมลงย้อมในน้ำย้อม แบบย้อมเย็นและย้อมร้อนตามลำดับ เสร็จแล้วจึงยกเส้นไหมขึ้นผึ่งให้เย็น จากนั้นล้างด้วยน้ำจนสะอาดดี ได้เส้นไหมสีชมพูอมน้ำตาลอ่อน และเป็นสีชมพูอมแดง เมื่อแช่เส้นไหมที่ย้อมแล้วในน้ำปูนใส สีที่ได้มีความคงทนต่อแสงและการซักระดับดีเช่นเดียวกัน

สรรพคุณทางยาของธนนไชย
- เปลือกต้น ต้มกับเกลือ อมแก้รำมะนาด
- ราก ต้มดื่มแก้อาหารเป็นพิษ
- ลำต้นหรือราก ต้มน้ำดื่ม แก้ผิดสำแดง
คุณค่าทางโภชนาการของธนนไชย
การแปรรูปของธนนไชย
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9968&SystemType=BEDO
www.dnp.go.th